องค์การบริหารส่วนตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว: www.thapprik.go.th
 
 
จำนวนผู้เข้าชม
จำนวน คน
ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2563

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของตำบลทับพริก   

      ประวัติศาสตร์ตำบลทับพริกนี้ได้มาจากข้อมูลวิจัยชุมชนในปี 2546 โดยเก็บข้อมูลจากการบอกเล่าของชุมชนที่อยู่อาศัยตั้งแต่เริ่มจัดตั้งหมู่บ้าน จากชาวชุมชนที่เป็นคนรุ่นลูก รุ่นหลาน ที่ช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวของหมู่บ้านทั้งจากประสบการณ์ตรง และจากที่ได้ยินมาจากประวัติศา่สตร์ที่เล่าสู่กันมา ซึ่งคณะวิจัยขณะนั้นได้แบ่งการพัฒนาของตำบลทับพริกออกเป็นยุคต่างๆ  ตามการเปลี่ยนแปลงทีึ่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเป็น 6 ยุค หลังการวิจัยได้สิ้นสุดลง ตำบลทับพริกยังได้กำหนดยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกหลายมิติจากผลการพัฒนาเพิ่มเป็น 8 ยุค ดังนี้

ยุคที่ 1 “บุกเบิก” (พ.ศ.2503 - 2507)

ก่อนปี พ.ศ.2503 บริเวณนี้เป็นผืนป่า ต่อมาในปี พ.ศ.2503 ชาวบ้านหมู่7 ตำบลคลองน้ำใส ซึ่งเป็นชาวญ้อ ประมาณ 3-5 ครอบครัว อพยพลงมาอยู่ในบริเวณนี้ ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันนั้น บริษัท พานทอง ซึ่งได้สัมปทานตัดไม้ในบริเวณนี้ เข้ามาพร้อมกับลูกจ้างตัดไม้ ซึ่งเป็นชาวส่วยจากหมู่ 12 ตำบลคลองน้ำใส กลุ่มลูกจ้างที่เข้ามานี้ ได้เข้ามาสร้าง “ทับ” ซึ่งหมายถึง เพิงพักอาศัย และปลูกต้นพริกไว้ที่พัก จึงเป็นที่มาของคำว่า “ทับพริก”

      ผู้อพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณนี้มีมากขึ้น ประมาณ 22 ครัวเรือน ชาวบ้านเข้ามารับจ้างตัดไม้ ทำไร่ข้าวโพดละปลูกฝ้าย เนื่องจากพื้นดินบริเวณนี้ไม่เหมาะสมกับการทำนา ชาวบ้านเอาฝ้ายไปขายและนำไป  ซื้อข้าว รวมทั้งปัจจัย4 จากบริเวณทิศเหนือของตำบลคลองน้ำใส

ยุคที่ 2 “ตั้งชุมชน” (พ.ศ.2507 - 2517)

       เมื่อเห็นว่ามีคนเข้ามาอยู่มากขึ้น จึงตั้งหมูบ้านใช้ชื่อว่า “บ้านทับพริก” หมู่ 12 ขึ้นตำบลคลองน้ำใส มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ นายพรม เชื้อคำศรี ในช่วงนี้ป่าไม้เริ่มหมดไป เนื่องจากการตัดไม้ของบริษัทที่ได้สัมปทาน พื้นที่ป่าถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีคนอพยพเข้ามาในชุมชนมากขึ้น มีการขายพื้นที่เพื่อการเกษตรมากขึ้น ลำดับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงสำคัญในชุชมชนในยุคนี้ มีดังนี้

     ปี พ.ศ.2508 เป็นปีที่มีการตั้งโรงเรียน 2 แห่ง คือ โรงเรียนทับวังมน และโรงเรียนทับพริก มีการสร้างสำนักสงฆ์ทับพริก ผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณทิศตะวันออกของตำบลในปัจจุบันซึ่งติดกับชายแดน

     ช่วงปี พ.ศ.2515-2516 กลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยและทำกินในตำบลทับพริกช่วงนี้ คือ ญาติ คนรู้จักที่ได้ข่าวแบบปากต่อปากว่าที่นี่มีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่มากที่ยังไม่มีการจับจอง ผู้คนจากจังหวัดต่างๆในภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี และจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านจากภาคอีสานก็เข้ามาอยู่บริเวณนี้ด้วย หลังจากผู้ใหญ่คนแรกเสียชีวิต นายช้อย ทำกิจการ ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2518

ยุคที่ 3 “อพยพ” (พ.ศ.2517 - 2520)

    ช่วงปี พ.ศ.2517 – 2518 ประวัติจากคำบอกเล่าของชาวบ้านว่ามีทหารจากกาญจนบุรี มาสร้างทางลูกรังผ่านตำบลทับพริก การอพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่วนอาชีพหลักของชาวทับพริก ยังคงเป็นการทำไร่ข้าวโพดและฝ้าย ต่อมาชาวบ้านเริ่มมีการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง และถั่วเขียว เป็นต้น

   ช่วงนี้เป็นอีกช่วงหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของตำบลทับพริกคือ ประมาณปี พ.ศ.2517 เกิดการสู้รบรุนแรงในประเทศกัมพูชา ซึ่งแบ่งเป็น 2 ฝ่าย โดยต่อมาเขมรแดงได้ปกครองกัมพูชา และในปีนั้นมีทหารเขมรแดงมาก่อตั้งฐานทัพอยู่ตรงกับบ้านทับวังมน ประกอบกับขณะนั้นมีการก่อตัวของคอมมิวนิสต์ในไทย และได้ร่วมมือกับเขมรแดงซึ่งตั้งฐานทัพในพื้นที่ชายแดนตรงข้ามกับประเทศไทยที่ทับวังมน จนถึงปี พ.ศ.2519 สถานการณ์รุนแรงขึ้น มีทหารเขมรแดงเข้าประชิดชายแดนไทย 4 ชุมชน คือบ้านสี่แยกทันใจ บ้านทับวังมน บ้านเขาสารภี บ้านคลองหว้า

    เหตุการณ์ที่ชาวบ้านจำได้อย่างแม่นยำคือ ประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2520 กลุ่มกองกำลังทหารเขมรแดงเผาทำลายวัด โรงเรียน ที่อยู่อาศัย ชาวบ้านต้องอพยพถอยออกมาจากบริเวณชายแดน ทำให้บริเวณดังกล่าวกับกลายเป็นที่รกร้าง มีทหารตำรวจไทย เข้ามารักษาความสงบตามแนวชายแดนและพื้นที่ชายแดนตลอดแนวกลายเป็นพื้นที่สู้รบในเขตแดนกัมพูชา โดยมีการสู้รบกับทหารเวียดนาม บางส่วนหนีภัยสงครามเข้ามา ทำให้เกิดศูนย์อพยพเกิดขึ้นในช่วงนั้น ผู้หญิง เด็ก คนชรา ต้องอพยพออกไปนอกชุมชนเป็นระยะๆ ครั้งละ 4-5 วัน สำหรับผู้ชายจะยังคงอยู่ในชุมชนและทำงานประกอบอาชีพในชุมชนต่อไป

ยุคที่ 4 “กลับถิ่นฟื้นฟู – ต่อสู้พัฒนา” (พ.ศ.2521 - 2530)

      ในปี พ.ศ. 2521 หน่วย กรป.กลาง เข้ามาจัดพื้นที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวบ้านในหมู่ 2 และหมู่ 6 โดยให้ราษฎรมีพื้นที่อยู่อาศัยรายละ 2 งาน (โดยมีเอกสารสิทธิ์) ในการจัดล็อกบ้านนั้น ได้มีผู้ที่เสียสละที่ดินให้กับทางราชการเพื่อจัดสรรเป็นล็อกบ้านอีก คือ นายอ่อนสา กอนเกียน โดยเสียสละที่ดินจำนวน 50 ไร่ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

      นอกจากนี้ยังมีการอุทิศที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียน คือ คุณลุงโสมและคุณป้าดา กอนเกียน โดยทำการยกที่ดินให้สร้างโรงเรียนในพื้นที่หมู่ 6 ในปัจจุบันนี้

     ส่วนวัดที่ถูกเผาทำลายก็ได้มีการย้ายเข้ามาสร้างในบริเวณหมู่บ้านที่มีการจัดล็อกเช่นเดียวกัน โดยผู้ที่อุทิศที่ดินเพื่อสร้างวัดได้แก่ หลวงพ่อเต็ม สุริยวงค์ จนทุกวันนี้

      ตำบลทับพริกได้แบ่งเขตการปกครองออกจากตำบลคลองน้ำใส ในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2521 ประกอบด้วย หมู่ 2 บ้านทับพริก หมู่ 3 บ้านเขาสารภี และหมู่ 4 บ้านคลองหว้า โดยมีผู้ใหญ่บ้าน นายช้อย ทำกิจการ เป็นกำนันคนแรกของตำบลทับพริก

     การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกประการหนี่งในช่วงนี้คือ ประมาณปี พ.ศ.2528 - 2529 มีการจัดสรรที่ดินให้ราษฎรในหมู่ 4 ก่อนโดยหน่วยทหารพัฒนาการเคลื่อนที่ ต่อมาเมื่อมีข่าวว่าจะมีการจัดสรรที่ดินให้ราษฎรในพื้นที่ตำบลทับพริกอีก ชาวบ้านที่เคยจับจองที่ดินและทำการเกษตรบนที่ดินที่จับจองไว้ก่อนแล้วต่างพากันขายที่ดินให้กับนายทุนที่มารับซื้อ สาเหตุเพราะกลัวว่า ที่ดินจะถูกจัดสรรเหมือนหมู่ 4 (นายทุนมีข้อมูลจากทหารว่าที่ดินบริเวณใดบ้างที่จะถูกนำไปจัดสรร แต่ชาวบ้านไม่มีข้อมูลและนายทุนจะถือโอกาสกว้านซื้อที่ดินที่อยู่นอกพื้นที่จัดสรร) ในครั้งนี้นับเป็นการจัดสรรครั้งที่ 2 โดยให้เป็นที่อยู่อาศัย 1 ไร่ และพื้นที่การเกษตร 14 ไร่ ผู้ที่ขายที่ดินไปแล้วและไม่ได้รับการจัดสรรจึงกลายเป็นผู้ขายแรงงานรับจ้างนายทุนที่ซื้อที่ดินปลูกอ้อยและข้าวโพด

     การสู้รบในเขมรยังคงดำเนินอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2529 – 2530 ผู้หญิง เด็ก คนชรา ต้องอพยพออกไปนอกชุมชนเป็นระยะๆ ครั้งละ 4-5 วัน สำหรับผู้ชายจะยังคงอยู่ในชุมชนและทำงานประกอบอาชีพในชุมชนต่อไป

ยุคที่ 5 “ยุคสงครามสงบสู้รบเศรษฐกิจ (พ.ศ.2531 - 2537)

     ตำบลทับพริกเริ่มเข้าสู่ความสงบอีกครั้งหลังปี พ.ศ.2531-2537 มีการซื้อขายที่ดินโดยนายทุนจากจังหวัดชลบุรีได้กว้านซื้อที่ดินผ่านนายหน้าซึ่งเป็นคนในตำบลทับพริก โดยอาศัยสถานการปล่อยข่าวเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกิน ทำให้ชาวบ้านขายที่ดินในราคาถูก คนตำบลทับพริก ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินกลับกลายเป็นลูกจ้างขายแรงงานบางส่วนประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ และเป็นเจ้าของที่ดินทำกินประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ราษฎรในชุมชนมีหนี้สินเกิดขึ้น

ยุคที่ 6 “ร่วมใจพัฒนาแก้ปัญหาสังคม” (พ.ศ.2537 - ปัจจุบัน)  

      ในปี พ.ศ.2540 กรมที่ดินมีการจัดขยายพื้นที่หมู่ 4 และหมู่ 7 เสริมให้สมาชิกที่ยังไม่มีพื้นที่ทำกิน 10 ไร่ เกษตร 14 ไร่ จำนวน 15 ครัวเรือน ซึ่งเป็นการจัดที่ดินทำกินให้ชาวบ้านครั้งที่ 3

     ในขณะที่ตำบลทับพริกมีโครงการพัฒนาเกิดขึ้นหลายโครงการการจัดตั้งกลุ่มในหมู่บ้านเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2541 – 2544 โดยเฉพาะกลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มส่งเสริมอาชีพมีงบประมาณมาสนับสนุนกิจกรรมต่างๆในตำบล ขณะเดียวกันนั้นปัญหาสังคมเริ่มเห็นได้อย่างชัดเจนขึ้น เช่น ปัญหายาเสพติด โรคเอดส์ การลักขโมย เนื่องจากตำบลทับพริกเป็นเขตติดชายแดน มีแรงงานต่างถิ่นเข้ามาจาก 2 แหล่ง ได้แก่ผู้ใช้แรงงานตัดอ้อย ซึ่งเป็นแรงงานจากอีสานและแรงงานจากเขมร

       ในปี พ.ศ.2545 หมู่ 3 ได้ขอขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มเติมอยู่ในระหว่างดำเนินการ ซึ่งหากได้รับการพิจารณาให้จัดสรรที่ดินทำกินเสริมให้ราษฎรอีกถือเป็นครั้งที่ 4 ที่มีการจัดพื้นที่ทำกินให้ราษฎรตำบลทับพริก

ยุคที่ 7 “การจัดการตนเอง” (พ.ศ.2546 - 2552)

       ยุคนี้เป็นยุคที่เกิดปัญหาต่างๆทางสังคมขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องโรคเอดส์ การหย่าร้าง สำหรับการทำการเกษตรเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจแปลงใหญ่ การใช้สารเคมีมีสูง ตำบลทับพริกได้รับการคัดเลือกเป็นพื้นที่การทำงานวิจัยเกี่ยวกับการสร้างและการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชนโดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากประเทศออสเตรเลีย โดยมีกรมพัฒนาชุมชนเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลทับพริกด้วย จึงมีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันขององค์กรในชุมชน เกิดการพัฒนากลุ่มองค์กรต่างๆในชุมชน เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มฌาปนกิจ เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีการจัดตั้งศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด

     องค์การบริหารส่วนตำบลทับพริก ได้สนับสนุนให้กับสาธารณสุขมูลฐานชุมชน มีการจัดตั้ง อปพร. โดยทำงานบูรณาการร่วมกับ ชรบ. ตำรวจตระเวนชายแดน ได้เกิดกลุ่มเฝ้าระวังเกิดขึ้นและมีการตั้งกลุ่มเพื่อการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติขึ้น เช่น กลุ่มอนุรักษ์เขาก้านเหลือง โดยนายวิเชียร เที่ยงธรรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับพริก ขณะนั้นเป็นแกนนำ ทำให้ตำบลทับพริกได้รับรางวัล ตำบลพัฒนาดีเด่นจังหวัดสระแก้ว มีการกำหนดมาตรฐานการพัฒนาชุมชนขึ้นมาในการพัฒนาชุมชน (มช.) ทำให้เกิดกฎระเบียบในการใช้ทรัพยากรร่วมกันที่หลากหลาย ซึ่งในการพัฒนาในช่วงนี้เป็นการพัฒนาสังคมในทุกๆด้านพร้อมกัน ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความพร้อมที่จะร่วมมือพัฒนาชุมชนและรูปแบบการพัฒนาชุมชนของ อบต. ที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลทับพริกได้รับรางวัล “อบต.ธรรมาภิบาล” นายวิเชียร เที่ยงธรรม ได้รับรางวัล อสม.ดีเด่นระดับภาค (ภาคกลาง 25 จังหวัด) สาขาการพัฒนาสังคม มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน (วันละบาท) ในปี 2551 โดยมีนายมงคล กอนเกียน เป็นประธาน

ยุคที่ 8 “เปิดพื้นที่แหล่งการเรียนรู้สู่สังคมสุขภาวะ” (พ.ศ.2553 - ปัจจุบัน)

      ผลจากการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาสู่การจัดการตนเอง เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน เช่น ตำบลสุขภาวะ ทำให้ปี 2556 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้คัดเลือกพื้นที่ในการจัดทำเวทีเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับการให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน ภาคกลาง ได้เข้ามาทำการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนของตำบลทับพริก ทำให้ตำบลทับพริกได้กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานจากผู้คนทั่วประเทศโดยเฉพาะด้านการจัดการสุขภาพและระบบสวัสดิการชุมชน

       ปี 2557 ตำบลทับพริก ได้รับการคัดเลือกจากจังหวัดสระแก้ว ให้เป็นพื้นที่นำร่องดำเนินการโครงการตำบลแห่งความสุขด้วย คนดี รายได้ดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี) ซึ่งจากการกำหนดยุทธศาสตร์ การพัฒนาตำบลที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างต่อเนื่อง ทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คัดเลือกตำบลทับพริกเป็นแม่ข่ายการดำเนินงานตำบลสุขภาวะ โดยมี นายบดินทร์ ลาน้อย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับพริก คนปัจจุบันเป็นหัวหน้าโครงการ